4 คำจำให้มั่น แล้วเราจะอยู่ด้วยกันอย่างเป็นสุข
โดย พว. ปิติพร สิริทิพากร พยาบาลผู้ชำนาญการพิเศษ งานการพยาบาลผู้ป่วยพิเศษ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช และคลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ว่าผู้เขียนจะเป็นพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในโรงพยาบาลมาหลายปี แต่เมื่อต้องรับหน้าที่เป็นลูกที่ดูแลคุณแม่เป็นสมองเสื่อม มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ กับคำว่าสมองเสื่อม หลงลืม เคยได้เรียนแบบทฤษฎี พอมาเจอของจริง และผู้ป่วยนั้นคือคุณแม่ของเรา เพราะแม่ก็คือแม่ แม่เห็นเราเป็นลูกเสมอ และแน่นอนว่า ท่านไม่เชื่อคำแนะนำพยาบาลเหมือนผู้ป่วยที่เจอที่โรงพยาบาลค่ะ ผ่านมาแล้ว 12 ปี จากจุดที่ความทุกข์สูงสุด ด้วยปัญหาที่ประดังเข้ามาทุกทิศ จนวันนี้เมื่อเข้าใจถึงธรรมชาติของภาวะสมองเสื่อม เข้าใจคุณแม่ เกิดเป็นความสุข เมื่อได้อยู่ด้วยกัน มันเกิดการตกผลึก ที่สามารถสรุปเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองสื่อม เพียงแค่ 4 คำ ที่จะทำให้ครอบครัวสามารถยึดเป็นแนวทางในการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุขนั่นคือ…
ยืดหยุ่น
คือ การผ่อนปรน หรือ ผ่อนสั้นผ่อนยาว อาจจะมีตารางในการดูแลในแต่ละวันที่ชัดเจน แต่ไม่ต้องถึงขนาดต้องเป๊ะๆ ตัวอย่าง เช่น ตื่นนอนตอนเช้า 7 โมง อาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัวแล้วทานข้าวประมาณ 8 โมง หากคืนนั้น ผู้ป่วยของเราไม่ได้นอน มานอนใกล้รุ่ง ทีนี้ 7 โมงเราก็จะปลุก ให้ตื่นมาทำกิจวัตรต่างๆ ก็จะเป็นเรื่องยาก หรือ หากผู้ป่วยบอกว่าวันนี้ไม่ได้ไปไหน ไม่ยอมอาบน้ำ แม้จะพยายามใช้เทคนิคต่างๆ แล้วก็ไม่ยอมอาบน้ำอยู่ดี ก็ปล่อยๆ ไปก่อนค่ะ ค่อยหาจังหวะ เพราะคนเราไม่ต้องอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง เหลือวันละครั้ง หรือ ปรับเปลี่ยนเป็นเช็ดตัวก็ได้ ปรับตามความเหมาะสม เพราะการไปออกคำสั่ง บังคับ บีบคั้นให้ทำอะไรสักอย่าง จะทำให้ผู้ป่วยหงุดหงิด อารมณ์เสีย และพาลทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมให้ความร่วมมือในการทำกิจวัตรประจำวันอื่นๆ และทำให้การดูแลยากขึ้น ดังนั้นทุกกิจกรรมจึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
ปลอดภัย
ในที่นี้หมายถึงความปลอดภัยทั้ง ด้านสิ่งแวดล้อม สถานที่ เพื่อไม่ให้เกิดการพลัดตกหกล้ม หรือเดินพลัดหลง สูญหาย การหยิบสิ่งที่ทานไม่ได้มาทาน เช่น น้ำในชักโครก น้ำยาล้างจาน หรือสารพิษ ๆ เป็นต้น รวมถึงของมีคม ปลั๊กไฟ และสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นสิ่งเร้าอื่นๆ เช่น เสียงที่ดัง หรือแสงที่มากเกินไป อาจจะกระตุ้นให้ ผู้ป่วยมีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น อันนี้ญาติต้องคอยสังเกตเอาเองนะคะ (ให้หมั่นสังเกต และคอยระวัง แต่อย่าระแวงจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเครียดในการดูแล) และที่ลืมไม่ได้ คือ ด้านจิตใจ อาจต้องคอยระวังไม่ให้ผู้ป่วยถูกกระทบกระเทือนด้านจิตใจ ถึงแม้ผู้ป่วยสมองเสื่อมจะสูญเสียความสามารถในด้านการใช้ภาษาไปแล้ว แต่ผู้ป่วยยังสามารถรับรู้ความไม่พอใจของผู้ดูแลได้จาก น้ำเสียง สีหน้า และภาษากาย ทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจ น้อยใจ ซึมเศร้าได้ ส่วนด้านผู้ดูแลเองมักมีภาระในการดูแล ภาระจากหน้าที่การงาน หรือครอบครัว ทำให้ เครียด หงุดหงิด เผลอพูดประชด หรือต่อว่าผู้ป่วยอย่างไม่ตั้งใจได้ เป็นต้น แนะนำให้ตั้งสติค่ะ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ใจเย็น ๆ ผู้ป่วยไม่ได้แกล้ง เป็นความผิดปกติของภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลทุกท่านต้องหาวิธีผ่อนคลายในแบบฉบับของตัวเอง ในการลดความเครียด ไม่อยากให้เก็บกดมากๆ เพราะการเก็บอารมณ์บ่อยๆ วันหนึ่งอาจจะระเบิดอารมณ์โกรธ ขาดสติ ทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด จนถึงขั้นลงไม้ลงมือ ทำร้ายคุณพ่อหรือคุณแม่ตามในข่าวที่เห็นกันเป็นระยะเลยนะคะ ใส่ใจสุขภาพทั้งกายและใจของผู้ดูแลเองด้วยนะคะ หาเวลาพักผ่อน คลายความเครียด เป็นระยะๆ (กายพร้อม ใจต้องพร้อมด้วย)
ใส่ใจ
ต้องเป็นคนช่างสังเกต ว่าผู้ป่วยในความดูแลของท่าน มีความชอบหรือไม่ชอบอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมในแต่ละวัน เผื่อที่เราจะใช้สิ่งที่ท่านชอบ มาเบี่ยงเบนความสนใจของท่านได้เมื่อท่านมีอารมณ์แปรปรวน ยกตัวอย่างของคุณแม่ ท่านเป็นโรคอัลไซเมอร์ เดิมท่านชอบเที่ยว ชอบร้องเพลง ชอบสัตว์เลี้ยง ชอบธรรมะ เป็นต้น เมื่อเกิดพฤติกรรมที่หงุดหงิด ก้าวร้าว อาละวาด เราก็รอจังหวะและค่อยๆ เอากิจกรรมที่ท่านชอบมาเบี่ยงเบนความสนใจออกไป และหมั่นสังเกตการแสดงออกทางกาย สีหน้านี้บอกถึงความเจ็บปวด หรือสีหน้านี้บอกถึงความไม่สบายกายอะไรบางอย่าง เพราะเมื่อระยะของโรคดำเนินไป ผู้ป่วยไม่สามารถบอกอาการผิดปกติของเขาให้เราทราบได้ (คุณแม่ล้ม สะโพกหัก ท่านไม่สามารถบอกเราได้เจ็บตรงไหน กว่าจะทราบเพราะเห็นว่าท่านไม่ยอมลุกเดินเองอย่างเคย ผ่านไป 1 วัน)
อ้อ!! อย่าลืมดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยนะคะ ควรพาผู้ป่วยพบทันตแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่ยังสามารถอ้าปากค้างนานๆ และทนเจ็บให้คุณหมอฟันได้ทำการกรอฟัน อุดฟัน หรือขูดหินปูนได้ เพราะจากประสบการณ์ของคุณแม่ ท่านบอกว่าท่านแปรงฟันแล้ว แต่เราไม่ได้ตามไปดูว่าท่านแปรงจริงหรือเปล่า แปรงสะอาดหรือเปล่า และจนวันหนึ่งท่านลืมการอาบน้ำแปรงฟัน เราจะทำให้ท่านก็ไม่ยอม จะให้แปรงฟันแต่ละที ทะเลาะกันวุ่นวาย บ้านแทบแตก ผลสุดท้ายฟันผุ เลยต้องถอนฟันที่เหลือมากถึง 16 ซี่ จากรากฟันอักเสบเป็นหนอง โดยการดมยาสลบ
ไม่เอาชนะ
ผู้ดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ต้องทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมในแต่ระยะ ๆ ของโรค เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของภาวะสมองเสื่อม ว่าอาการที่ผู้ป่วยเป็น ผู้ป่วยไม่ได้แกล้ง การอธิบายด้วยเหตุผล หรือต่อล้อต่อเถียงด้วยอารมณ์ เพื่อเอาชนะผู้ป่วยไม่มีทางสำเร็จ แถมอาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ต้องใช้เทคนิคการหลอกล่อ ชักชวน เบี่ยงเบนความสนใจแทนเอาค่ะ เหมือนว่าผู้ป่วยมีโลกของเขา และเราไม่สามารถดึงเขาให้ออกมาสู่โลกความเป็นจริงในปัจจุบันได้ ตัวเราผู้ดูแลนี่เลยค่ะที่ต้องเข้าไปอยู่ในโลกของเขาด้วยความรัก ความเข้าใจ ปรับอารมณ์ ทัศนคติในการดูแล และมีสติอยู่เสมอ
กว่าจะคิดได้แบบนี้ก็แทบแย่ไปหลายปีเหมือนกัน ทำให้เข้าใจและเห็นปัญหา+ความรู้สึกยากลำบากในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งแต่ละครอบครัวก็จะเจอปัญหาที่แตกต่างกัน ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับทุกๆ ครอบครัวที่กำลังดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่นะคะ ตั้งสติ เปิดใจ ยอมรับและวางแผนในการดูแล เพื่อให้เกิดความสุข คุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแลต่อไปค่ะ
https://www2.si.mahidol.ac.th/division/nursing/sins/index.php/download/737-2020-05-05-03-53-03#4